Welcome to T.H.N-Guidance ยินดีต้อนรับสู่...งานแนะแนวโรงเรียนถาวรานุกูล จังหวัดสมุทรสงคราม
ยินดีต้อนรับสู่ Blog T.H.N-Guidance.......
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับครู for Information and Communication Technology Teachers

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คบเพื่อนแบบนี้ดีหรือเสี่ยง

คบเพื่อนแบบไหนดี


พ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่นที่รักคะ   ลองนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปตอนวัยรุ่น แล้วตอบหน่อยสิว่า ใครคือคนสำคัญที่สุดสำหรับคุณในตอนนั้น ใช่แล้วค่ะ เพื่อน… (โปรดอ่านแบบเสียงเอ็คโค่ เพื่ออรรถรส) นั่นเอง สำหรับวัยรุ่น เพื่อน คือคนสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตพวกเขาครับ ไม่ใช่เพียงเขาจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับเพื่อนเท่านั้น แต่เพื่อนยังมีอิทธิพลกับวัยรุ่นหลายอย่าง เช่น พฤติกรรมการแต่งตัว การตัดสินใจ ตลอดจนความรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองด้วย ผู้มีประสบการณ์ทั้งหลายยังเคยพูดไว้ " อย่าประเมินแค่ความสำคัญของเพื่อนสำหรับวัยรุ่นต่ำเกินไป " แน่นอนว่า พ่อแม่ที่แม้จะประคบประหงม ฟูมฟัก รักใคร่กันมายังไง ก็ไม่มีทางแย่งตำแหน่งนัมเบอร์วันไปจากเหล่าเพื่อนๆ ของเขาได้ ต้องทำใจสถานเดียวละครับงานนี้ เมื่อเพื่อนมีความสำคัญกับลูกมากปานฉะนี้ พ่อแม่หลายคนเลยเกิดอาการเป็นห่วงขึ้นมาจับใจ และความเป็นห่วงนี่แหละ ที่ทำให้หลายต่อหลายครั้ง พ่อแม่มีปัญหาการคบเพื่อนของลูก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นในทำนองไม่ชอบ ไม่ถูกใจเพื่อนที่ลูกคบ


พ่อแม่มืออาชีพแนะว่า โดยปกติแล้ว พ่อแม่ควรทำตัวเป็นมิตรและสนิทสนมกับเพื่อนลูกครับ อาจชวนมาทำกิจกรรมที่บ้าน ชวนมาทานข้าวเย็น หรือชวนไปเที่ยวด้วยกัน นอกจากจะทำให้ลูกประทับใจในท่าทีของพ่อแม่แสดงต่อเพื่อนของเขาแล้ว พ่อแม่ยังอาจได้รับรู้ข้อมูลที่มีประโยชน์จากปากเพื่อนลูกด้วย

แม่คนหนึ่งเล่าว่า เดี๋ยวนี้เวลาเพื่อนลูกมาที่บ้าน จะคุยกับแม่มากกว่าลูกเสียอีก การสนิทสนมกับเพื่อนๆ ของลูกนี้ จะเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกวัยรุ่นให้ดีขึ้นครับ ทำให้เขารู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ใช่คนแปลกหน้า แต่เป็นพวกเดียวกัน

ที่สำคัญ พ่อแม่ไม่ควรเริ่มต้นมองเพื่อนลูกอย่างจับผิด อย่างน้อยก็ควรเชื่อมั่นในตัวลูกว่า เขาน่าจะฉลาดพอที่จะเลือกคบเพื่อนที่ดี เว้นเสียแต่เห็นว่าสุด…สุดจริงๆ ขืนปล่อยให้คบไป พาลูกไปเสียผู้เสียคนแน่ อย่างนี้คงต้องจัดการค่ะ

แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ อย่าเพิ่งด่วนตัดสินและประเมินค่าเพื่อนของลูก เพียงแค่การแต่งตัว ทรงผม หรือบุคลิกภายนอก เพราะความจริงแล้ว เพื่อนของลูกอาจมีสิ่งดีๆ อยู่ภายใต้ท่าทีที่ไม่เป็นตามมาตรฐานของพ่อแม่ (ซึ่งอาจล้าสมัยเกินไปแล้ว)
วันก่อน คุณแม่ของตุ้ม สาวน้อยวัย 15มาบ่นให้ฟังเรื่องเพื่อนสนิทคนล่าสุดของลูก ที่แม่ทำใจให้ชอบเอาไม่ได้เสียเลย ก็เจ้าหล่อนทั้งเจาะลิ้น เจาะจมูก แถมมีประวัติโดนเชิญออกจากโรงเรียนมา 2 ครั้งซ้อน ตั้งแต่คบกับเพื่อนคนนี้ พฤติกรรมของตุ้มเปลี่ยนไปหลายอย่าง เช่น กลับบ้านผิดเวลาบ่อยๆ ใช้เงินเปลืองขึ้นจนผิดสังเกต แถมไม่ค่อยคุยกับพ่อแม่พี่น้องเหมือนก่อน กลับถึงบ้านก็ปิดประตูเข้าห้องลูกเดียว แม่กลุ้มใจไม่รู้จะจัดการยังไง ครั้นจะใช้วิธียื่นคำขาด ก็กลัวลูกจะยิ่งเตลิด
แม่ของตุ้มคิดถูกและทำถูกต้องแล้วละค่ะ ที่ไม่ใช้วิธีชนตรงๆ เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังยิ่งก่อให้เกิดการต่อต้าน ซึ่งพ่อแม่จะเอาชนะไม่ได้ง่ายๆ เสียด้วย

คำแนะนำสำหรับพ่อแม่ที่มีปัญหาทำนองเดียวกันนี้ คือควรหาวิธีการแสดงให้ลูกเห็นเป็นนัยๆ ว่า พ่อแม่ไม่ชอบเพื่อนลูกคนนี้เท่าไร เช่น ถ้าลูกขอไปไหนมาไหนกับเพื่อนคนอื่น พ่อแม่อนุญาตไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นเพื่อนคนนี้ พ่อแม่เป็นต้องมีเหตุผลที่จะปฏิเสธต่างๆ นานาทุกครั้ง

นอกจากนั้น แทนที่จะพูดถึงข้อเสียของเพื่อนลูกที่พ่อแม่ไม่ชอบ เปลี่ยนเป็นพูดถึงความเปลี่ยนแปลงในทางที่แย่ลงหรือสิ่งดีๆ ที่พ่อแม่รู้สึกว่าหายไปจากตัวลูก เช่น การเรียนตกลง กลับบ้านผิดเวลา ไม่มีความรับผิดชอบเหมือนแต่ก่อน ฯลฯ ด้วยท่าทีที่ห่วงใย ไม่ใช่จับผิด ที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด ก็ประโยกพวกนี้ค่ะ
" เลิกคบซะที เพื่อนคนนี้น่ะ"
" แม่ไม่ชอบเพื่อนที่ลูกพามาวันนี้เลย ดูยังกับพวกนักเลง"
" สนิทสนมเข้าไปได้ไง้…เพื่อนแบบนี้"
" อย่าให้รู้ว่ายังคบเพื่อนพวกนี้อยู่อีกนะ"
คุณพ่อคนหนึ่งเคยพูดเปรียบเทียบในวงสัมมนาไว้อย่างน่าคิดว่า
" ยิ่งพ่อแม่ใช้คำสั่ง หรือยื่นคำขาดห้ามไม่ให้ลูกวัยรุ่นคบเพื่อนคนนั้นคนนี้ เขาจะยิ่งกดส้นเท้าให้จมลึก และกางปีกปกป้องเพื่อนของเขา เพื่อแสดงให้พ่อแม่เห็นว่าเขาไม่ใช่เด็ก เขาคิดเองเป็น และมีอิสระ  แม้จริงๆ แล้ว เขาอาจจะรู้ว่าพ่อแม่พูดถูกก็ตาม" 
รับมือกับแรงกดดันจากหมู่เพื่อน
พ่อแม่ควรบอกลูกอยู่เสมอถึงความสำคัญของการเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่จำเป็นต้องทำตามกลุ่มเพื่อนทุกเรื่อง ถ้าหากเราไม่เห็นด้วยหรือเห็นว่าไม่ถูกต้อง แต่อย่างก็ตาม ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะทำเมื่อต้องเผชิญกับแรงกดดันจากเพื่อนฝูงให้ทำโน่นทำนี่ วัยรุ่นมักจะยอมทำตามความต้องการของกลุ่มเพื่อน เนื่องจากเขาไม่ต้องการแตกต่างจากคนอื่น ทั้งเรื่องเล็กๆ รวมถึงเรื่องใหญ่ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น การดื่มเหล้า การใช้ยาเสพย์ติดโดยเด็กที่มีความยอมรับนับถือในตัวเองต่ำ มักมีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามแรงกดดันจากเพื่อนได้ง่าย


วิธีหนึ่งที่จะจัดการกับเรื่องนี้อย่างได้ผล คือการสมมติสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ลูกรู้วิธีจัดการกับเรื่องแบบนี้ไว้ล่วงหน้า โดยการตั้งคำถาม เช่น " ถ้าเพื่อนชวนให้ลองยาเสพย์ติด ลูกจะปฏิเสธอย่างไร"
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น